พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสนเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสังกัดสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม รวบรวมโบราณวัตถุที่ได้จากบริเวณเมืองโบราณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเมืองเชียงแสนนี้เป็นเมืองโบราณของภาคเหนือตอนบนตามประวัติศาสตร์ล้านนา ในอดีต พระราชนัดดาของพระเจ้าเม็งรายทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นปี พ.ศ.1871 เพื่อเป็นที่มั่นในการควบคุมดูแลหัวเมืองต่างๆ ในแคว้นโยนก และเป็นปากประตูเพื่อติดต่อกับบ้านเมืองภายในผืนทวีปตามเส้นทางแม่น้ำโขง มีร่องรอยโบราณสถานให้เห็นอยู่ถึงปัจจุบัน
ภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสนจัดแสดงออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ ส่วนนิทรรศการแสดงประวิตศาสตร์การสร้างเมืองเชียงแสน การตั้งถิ่นฐานของชุมชน ส่วนแสดงโบราณวัตถุที่ถูกขุดค้นพบ อาทิ พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพิมพ์ ศิลาจารึก เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องถ้วย ชิ้นส่วนลายปูนปั้น ผอบ แผ่นอิฐดินเผา ฯ ส่วนแสดงเครื่องถ้วยในจัดหวัดเชียงราย ส่วนแสดงวิถีชีวิตชาวบ้านและชาวเขา จัดแสดงเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เครื่องใช้ของชนเผ่าต่างๆ
สถานที่ตั้ง
เลขที่ 702 ถ.พหลโยธิน ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 57150
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองเชียงรายวิ่งขึ้นเหนือตามถนนพหลโยธิน เมื่อถึงอำเภอแม่จัน เมื่อผ่านตัวอำเภอจะเจอสามแยกเลี้ยวขวาไปถนนสาย 1016 ให้เลี้ยวขวาตรงไปถึงอำเภอเชียงแสน เมื่อถึงวงเวียนให้ตรงขึ้นมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสนจะอยู่ทางขวามือ
สิ่งที่น่าสนใจ
ภายในมีโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่
หน้ากาล เป็นศิลปะล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 ได้จากวัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2500เป็นชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดป่าสัก บริเวณส่วนมุม ลักษณะเป็นรูปใบหน้ากึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์สวมกระบังหน้า เหนือเศียรเป็นลายกนก ปากคายลายกนกออกมาทั้งสอบข้าง มีมือยึดลายกนกไว้ริมฝีปากล่างหักหายไป
เปลวรัศมี เป็นศิลปะล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 พบที่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แล้วนำไปที่วัดมุมเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายเปลวรัศมี คือ สัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้หล่อด้วยสำริด ภายในกลวง ลักษณะเป็นเปลวรัศมี 9 แฉก แต่ยอดตรงกลางหักหายไป มีช่องสำหรับใส่หินมีค่าเพื่อประดับตกแต่ง ฐานด้านล่างมีกลีบบัวหงายรองรับและมีเดือยสำหรับสวมลงบนเศียรพระพุทธรูป
ประติมากรรมรูปพระฤาษีกัมมะโล เป็นศิลปะล้านนา พ.ศ. 2147 พบที่วัดพระธาตุดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายประติมากรรมรูปบุคคลนั่งศรีษะเกล้ามวยสูง ใบหน้ายิ้ม นุ่งห่มหนังสือ สองมือพนมสูงเสมออก ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้นในลักษาการที่เรียกว่า "ประคองอัญชลี" บนที่นั่งด้านขวามีภาชนะรูปร่างคล้ายคนโทใส่น้ำ ด้านซ้ายมีภาชนะรูปทรงคล้ายขันหรือชามกับกล่องใส่ของ ฐานล่างมีภาพบุคคลกำลังแสดงความเคารพรูปกวาง มีภาพของเครื่องมือเครื่องใช้ สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องใช้ของฤาษี ซึ่งเครื่องใช้เหล่านี้พบประกอบลายปูนปั้นกลีบขนุนปรางค์ในสมัยลพบุรี สาระสำคัญของจารึกบนฐานพระฤาษีกัมมะโลกล่าวถึงการสร้างพระธาตุดอยตุง โดยพระเจ้าอชุตราชเป็นผู้นำในการสร้างถวายแด่พระฤาษีกัมมะโล เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ฉลองพระธาตุ มีการสร้างตุง (ธง) ขนาดใหญ่ จึงเป็นที่มาของชื่อ "ดอยตุง" และมอบหมายให้ชาวลัวะเป็นผู้ดูแล
พิณเปี๊ยะ เป็นศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 25 หัวเปี๊ยะทำเป็นรูปหัวช้าง มีงวง มีหูกางใช้เป็นที่พาดสายทั้ง 2 ข้าง ส่วนปลายด้ามทำเป็นปลอกสำหรับเป็นที่เสียบแกนไม้ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของล้านนา ที่มีประวัติพัฒนาการที่ยาวนาน
ค่าเข้าชมสถานที่
ชาวไทย 20 บาท
ชาวต่างประเทศ 100 บาท
เวลา เปิด-ปิด
เปิดบริการ วันพุธ - อาทิตย์ เวลา 8.30 - 16.30 น.
ปิดบริการ วันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เบอร์โทรติดต่อ
053-777-102