ดอยช้าง
ดอยช้าง เป็นยอดดอยสูงในเทือกดอยวาวี เป็นแหล่งต้นน้ำแม่กรณ์ มีชาวเขาเผ่าต่างๆ มาอาศัยอยู่ จัดตั้งเป็นสถานีทดลองเกษตรที่สูงเพื่อส่งเสริมการปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาว ลดการทำไร่เลื่อนลอย ต่อมาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต
ชื่อ "บ้านดอยช้าง" ตั้งขึ้นตามลักษณะของภูเขาที่มีรูปร่างเหมือนช้างแม่ลูกสองเชือก หันหน้าไปทางทิศเหนือ (ตัวจังหวัดเชียงราย) สามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่บริเวณโรงเรียนบ้านดอยช้าง มีผาหัวช้างสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ที่สวยงาม อากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย 18 องศาเซลเซียส ดอยช้างมีชื่อเสียงในเรื่องของเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย นักท่องเที่ยวที่มาจะได้ชมสวนกาแฟที่สุกอร่ามเต็มดอย พร้อมๆกับชมดอกซากุระหรือนางพญาเสือโคร่งที่กำลังบาน สีชมพูสดใส อีกทั้งเพลินตา กับศิลปะวิถีชาวบ้าน
สถานที่ตั้ง
ดอยช้าง ตั้งอยู่บ้านดอยช้าง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
การเดินทาง
การเดินทางด้วยรถส่วนตัว การเดินทางขึ้นสู่บ้านดอยช้าง มีเส้นทางขึ้นได้ 3 สายคือ
1 ทางหมู่บ้านห้วยส้าน (อำเภอแม่ลาว) โดยขับรถออกจากตัวเมืองเชียงรายผ่านสี่แยกเด่นห้า ทางไปสิงห์ปาร์ค ขับตรงไปเรื่อยๆ จนถึงต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว ตรงไปเรื่อยๆ จนเห็นป้ายบอกทางด้านขวาของถนนว่า “สวนชาธรรมชาติดอยช้าง” และ “ภูชมดาว” ให้เลี้ยวขวาเข้าซอยไป ผ่านห้วยซ้านลีซอ ผ่านเกษตรที่สูงวาวี ถึงดอยช้างเป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร
2 ทางอ.แม่สรวย โดยขับรถออกจากตัวเมืองเชียงราย ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าไปทาง อ.พาน ระยะทาง 22 กม. เมื่อถึงหลัก กม. 807 เลี้ยวขวาเขาทางหลวงหมายเลข 118 (แม่สรวย-เวียงป่าเป้า-ดอยสะเก็ด-เชียงใหม่) ไปอีก 23 กม. จนถึงหลัก กม.134 เป็นสามแยกดอยวาวี ปากทางเป็นย่านขายข้าวโพดหวานนับสิบเจ้า เลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. ผ่านบ้านตีนดอย ผ่านแสนเจริญ ดอยล้าน และโรงงานกาแฟดอยช้าง ถึงดอยช้างเป็นระยะทาง 28 กิโลเมตร
3 ทางอ.แม่สรวย โดยขับรถออกจากตัวเมืองเชียงราย ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าไปทาง อ.พาน ระยะทาง 22 กม. เมื่อถึงหลัก กม. 807 เลี้ยวขวาเขาทางหลวงหมายเลข 118 (แม่สรวย-เวียงป่าเป้า-ดอยสะเก็ด-เชียงใหม่) ไปอีก 23 กม. จนถึงหลัก กม.134 เป็นสามแยกดอยวาวี ปากทางเป็นย่านขายข้าวโพดหวานนับสิบเจ้า เลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. ผ่านบ้านตีนดอย เข้าทางริมเขื่อนแม่สรวย ผ่านทุ่งพร้าว ห้วยไคร้ ถึงดอยช้างเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร
การเดินทางด้วยรถประจำทาง มีรถสองแถวสีเหลืองสายแม่สรวย – วาวี ท่ารถอยู่หน้าที่ว่าการ อ.แม่สรวย มีรถตั้งแต่ 08:00-17:00 น. เวลาออกแล้วแต่จำนวนผู้โดยสาร ค่าโดยสาร 50 บาท เที่ยวกลับมีรถออกจากบ้านวาวี ท่ารถอยู่หน้าร้านชาศิริภัณฑ์ มีรถตลอดวัน
สิ่งที่น่าสนใจ
จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนดอยช้างได้แก่
1.แปลงปลูกดอกไม้และผลไม้เมืองหนาว ดอกนางพญาเสือโคร่งบาน เป็นแปลงปลูกผลไม้เมืองหนาว เช่า เกาลัด มะคาเดเมียนัต บ๊วย ท้อ พลับ พลัม กาแฟ ให้ผลผลิตในฤดูหนาว แต่ไม่มีจำหน่าย มีเจ้าหน้าที่พาชมแปลงปลูกพืชรอบพื้นที่ บริเวณดอยช้างมีอากาศดี และเย็นสบายเหมาะ สำหรับ การพักผ่อน ในช่วงเดือนธ.ค. – ต้นม.ค. ดอกพญาเสือโคร่งจะบานเป็นสีมชมพูทั่วภูเขางดงามยิ่งนัก
2.ชิมกาแฟอาราบิกา เนื่องจากพื้นที่ดอยช้างอยู่ที่ระดับความสูงเกิน 1,000 เมตร เหมาะสำหรับปลูกกาแฟอาราบิกา จึงได้ผลผลิตดี ทางศูนย์ติดตั้งเครื่องคั่วบดกาแฟเพื่อแปรรูปวัตถุดิบ มีกาแฟที่คั่วบดแล้วให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิม
3. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณดอยช้างแห่งนี้ มีอีกหนึ่งสถานที่ที่สำคัญ และเหล่าชาวพุทธศาสนิกชนไม่ควรข้ามผ่านไปอย่างเด็ดขาด นั่นคือ บริเวณพุทธอุทยานดอยช้าง ซึ่งมีหลวงพ่ออำนาจ สีลคุโณ ได้มาปฏิบัติธรรมจำพรรษาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2532 เป็นผู้ดูแลรักษาพุทธอุทยาน ดอยช้างยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติของป่าไม้ไว้ได้อย่างสมบูรณ์มาก มีบึงน้ำขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่าสระมรกตอยู่กลางพุทธอุทยาน สีเขียวของน้ำบ่งบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ บริเวณ รอบๆ รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ตลอดเส้นทางที่เดินไปก็จะมีเสียงกบ เสียงจิ้งหรีดร้องทักทาย อยู่ตลอด เวลา ทางเดินเล็กๆ จากบ่อน้ำจะนำพาเราไปสู่ลานพุทธสถานที่มีพระพุทธรูปปางต่างๆไว้ให้ประชาชน ได้กราบไหว้สักการบูชา
4. จุดชมวิวดอยช้าง บริเวณโดยรอบของจุดชมวิวจะถูกประดับประดาไปด้วยพรรณไม้เมืองหนาวมากมาย หลากหลายสี ถ้ามาในช่วงฤดูหนาว ที่จุดชมวิวแห่งนี้จะมีอากาศหนาวเย็นตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็นไปเลยทีเดียว เนินเล็กๆ ของจุดชมวิวเป็นที่ให้นักท่องเที่ยวได้นักพักผ่อน และเฝ้ารอการกลับบ้านของพระอาทิตย์ ซึ่งแสงสุดท้ายที่สาดส่องขึ้นไปทั่วฟ้าสวยงามเหลือจะบรรยาย
ค่าเข้าชมสถานที่
ขึ้นอยู่กัับแต่ละสถานที่
เวลา เปิด - ปิด
เปิดทำการทุกวัน
เบอร์โทรติดต่อ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภาคเหนือ เขต 2 โทรศัพท์ 053-744674-5
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments